ช้างบอร์เนียว


                           ช้างบอร์เนียว

Borneoelephants.jpg


ช้างบอร์เนียว หรือ ช้างแคระบอร์เนียว (อังกฤษ: Borneo elephant) เป็นชนิดย่อยของช้างเอเชียชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elephas maximus borneensis พบได้เฉพาะบนเกาะบอร์เนียวเท่านั้น
ถูกเรียกว่าเป็น "ช้างแคระ" เพราะมีขนาดลำตัวที่เมื่อโตเต็มที่แล้วมีขนาดเล็กกว่าช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ อย่างมาก โดยมีความสูงประมาณ 8 ฟุต เท่านั้นเอง ตัวผู้มีงาสั้น ๆ หรือไม่มีเลย ขณะที่ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้   มีใบหูใหญ่ มีลำตัวอ้วนกลมกว่า และมีนิสัยไม่ดุร้าย มีลักษณะความแตกต่างทางพันธุกรรมจากช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ พอสมควร
สุลต่านแห่งซูลูได้นำเอาช้างที่ถูกจับเข้ามาบนเกาะบอร์เนียวในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนจะถูกปล่อยเข้าป่าไป  เดิมเชื่อว่าเคยมีอยู่ในภาคใต้ตอนล่างของไทยด้วย โดยมีบันทึกในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ โรงเรียนสตรีพัทลุง ระบุว่า
ช้างแคระเหล่านี้มีถิ่นที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า ช้างค่อม, ช้างแคระ, ช้างแกลบ หรือ ช้างพรุ มีรูปร่างลักษณะอย่างช้างทั่ว ๆ ไปแต่มีขนาดเล็กกว่า ขนาดลำตัวสูงประมาณควาย ซึ่งในบันทึกการพบเห็นช้างค่อมนั้น มีการบันทึกไว้น้อยมาก และสูญหายไปเมื่อราว ๆ 60-70 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งในปี พ.ศ. 2506 นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักนิยมไพรคนสำคัญของไทย ทำการสำรวจในเรื่องช้างแคระนี้ ก็ไม่ปรากฏร่องรอยรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลาอีกเลย

เป็นช้างที่เพิ่งได้รับการแบ่งแยกเป็นชนิดย่อยเมื่อไม่นานมานี้ และอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์แล้ว จากการวิจัยพบว่า ช้างแคระบอร์เนียวอาศัยหากินตามป่าในที่ราบลุ่มและบริเวณลุ่มแม่น้ำ ซึ่งใกล้กับพื้นที่ทำกินของผู้คนบนเกาะด้วย และพบว่ามีจำนวนประชากรประมาณ 1,500 ตัว โดยจะอาศัยอยู่ในป่าแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียวเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตรัฐซาบะฮ์ของมาเลเซีย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ช้างเผือก

ช้างเอราวัณ